ปวดท้องประจำเดือนเป็นอาการที่คุณผู้หญิงต้องเคยเผชิญเมื่อวันนั้นของเดือนมาถึง ส่วนใหญ่เรามักจะคิดว่าการปวดประจำเดือนนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ โดยบางคนอาจปวดมาก หรือบางคนอาจปวดน้อย อย่างไรก็ตาม อาการปวดประจำเดือนที่ไม่ปกติก็เป็นเรื่องไม่ควรชะล่าใจ เพราะอาจเป็นสาเหตุของโรคอื่น ๆ ตามมาได้ บทความนี้จะพาคุณไปทำความรู้จักกับอาการปวดประจำเดือนกันมากขึ้น เพื่อให้คุณผู้หญิงได้ลองสังเกตตัวเองกันให้มากขึ้น จะมีอะไรบ้างนั้น ตามไปดูกัน
อาการ ปวดท้องประจำเดือน คืออะไร
อาการปวดประจำเดือน หรือ dysmenorrhea เป็นอาการปวดเกร็งหรือหน่วง ๆ ที่บริเวณท้องน้อย โดยมักจะเกิดขึ้นตอนก่อนมีประจำเดือน 1-2 วัน และระหว่างมีประจำเดือนในช่วงวันแรก ๆ โดยอากรปวดประจำเดือนนี้บางคนอาจมีอาการปวดเพียงเล็กน้อยแต่บางคนก็อาจมีอาการปวดขั้นรุนแรงรวมถึงมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสียหรือท้องผูก ปวดหลังด้านล่าง เวียนศีรษะและปวดศีรษะ เป็นต้น
สาเหตุของการ ปวดท้องประจำเดือน
ประจำเดือนเป็นกลไกตามธรรมชาติของร่างกายเพศหญิง ที่โดยเฉลี่ยทุก ๆ 28 วัน หากไข่ไม่มีอสุจิมาผสม เยื่อบุโพรงมดลูกก็จะหลุดลอกออกมา กลายเป็นประจำเดือนนั่นเอง ซึ่งอาการปวดท้องเนื่องจากประจำเดือนนั้นเกิดจากโพรสตาแกลนดิน (prostaglandin) สารที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนที่จะก่อตัวขึ้นที่เยื่อบุโพรงมดลูกในระหว่างที่มีประจำเดือน ยิ่งร่างกายหลั่งสารนี้มากเท่าไรก็จะยิ่งเพิ่มความรุนแรงของอาการบีบรัด ทำให้รู้สึกปวดมากยิ่งขึ้นไปอีก นอกจากนี้ โพรสตาแกลนดินก็ยังเป็นสาเหตุของอาการคลื่นไส้ ท้องเสียขณะมีประจำเดือนอีกด้วย
ประเภทของอาการปวดท้องประจำเดือน
อาการปวดประจำเดือนนั้นเราสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทด้วยกันนั่นคือ
- ปวดประจำเดือนประเภทปฐมภูมิ หรือ Primary Dysmenorrhea เป็นอาการปวดประจำเดือนแบบทั่วไปที่พบได้บ่อย ๆ ซึ่งมักจะมีสาเหตุมาจากการที่เยื่อบุโพรงมดลูกผลิตสารโพรสตาแกลนดินมากเกินไป
- ปวดประจำเดือนประเภททุติยภูมิ หรือ Secondary Dysmenorrhea เป็นการปวดประจำเดือนที่เกิดจากภาวะผิดปกติของมดลูกหรืออวัยวะสืบพันธุ์อื่น ๆ โดยมักจะมีอาการเจ็บปวดขั้นรุนแรงที่มากกว่าขั้นปฐมภูมิ เช่น
- เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (endometriosis)
- เยื่อบุมดลูกเจริญภายในกล้ามเนื้อมดลูก (Adenomyosis)
- เนื้องอกมดลูก (uterine fibroids)
- ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflammatory Disease)
- ภาวะปากมดลูกตีบ (Cervical stenosis)
อย่างไรก็ตาม สำหรับอาการปวดท้องประเภททุติยภูมิ เป็นสิ่งที่ไม่ควรปล่อยไว้เพราะอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าอาการปวดแบบไหนที่ผิดปกติและควรไปพบแพทย์โดยด่วน หาคำตอบได้ที่ด้านล่างนี้
อาการแบบไหนควรรีบพบแพทย์
อย่างที่เกริ่นไปแล้วข้างต้นว่าอาการปวดประจำเดือนนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติของผู้หญิง อย่างไรก็ตาม คุณผู้หญิงทุกท่านต้องหมั่นสำรวจอาการของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เพราะการปวดประจำเดือนที่เป็นปกติอาจไม่ปกติได้อีกต่อไป โดยคุณสามารถสังเกตได้จากอาการเหล่านี้ ที่จะเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคภัยที่อาจร้ายแรงกว่าอาการปวดประจำเดือนทั่วไป
- มีอาการปวดประจำเดือนมากกว่าปกติ
- รับประทานยาแล้วแต่ยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการแย่ลง
- มีอายุมากกว่า 25 ปี และมีอาการปวดประจำเดือนอย่างรุนแรงเป็นครั้งแรก
- มีไข้ร่วมกับอาการปวดท้อง
- มีเลือดไหลออกมามากว่าปกติ
- ตกขาวมีกลื่น มีอาการคันบริเวณช่องคลอด เลือดประจำเดือนมีสีแปลกไป
- รู้สึกปวดท้องน้อยแต่ไม่มีประจำเดือน
ทั้งหมดนี้คืออาการที่คุณผู้หญิงทุกท่านไม่ควรปล่อยผ่าน หากใกล้ช่วงมีประจำเดือนหรืออยู่ในระหว่างการมีประจำเดือนแล้วมีอาการเหล่านี้ร่วมอยู่ด้วย ให้รีบไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อการรักษาที่ทันท่วงที
วิธีการป้องกันและบรรเทาอาการปวดประจำเดือน
อย่างไรก็ตาม อาการปวดประจำเดือนเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่เราสามารถบรรเทาอาการปวดท้องให้ดีขึ้นได้ โดย
- ใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบที่บริเวณท้องน้อยและบริเวณหลัง
- อาบน้ำด้วยน้ำอุ่น
- พักผ่อนให้เพียงพอและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและเกลือสูง รวมถึงงดเครื่องดื่มผสมคาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และขนมหวาน
- ผ่อนคลายตัวเองด้วยการนั่งสมาธิหรือเล่นโยคะ
- รับประทานยาต้านการอักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์ (NSAIDs) แต่ควรรับประทานเมื่อมี
อาการปวดอย่างรุนแรงเท่านั้น เพราะยาประเภทนี้อาจมีผลข้างเคียงอื่น ๆ
สำหรับคุณผู้หญิงที่อาจมีปัญหาหรือต้องการปรึกษาเรื่องประจำเดือนมาไม่ปกติหรือแม้แต่อาการปวดประจำเดือน ทำนัดหมายปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เรามีผู้เชี่ยวชาญที่จะคอยให้คำแนะนำคุณได้อย่างถูกต้องและดีที่สุด