แผนปัจจุบัน : ชาย
ขลิบหนังหุ้มปลาย Circumcision
ตามปกติแล้วเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น หนังหุ้มปลายควรที่จะสามารถรูดจนเผยให้เห็นถึงบริเวณหัวของอวัยวะเพศได้ทั้งหมด และสามารถรูดกลับได้โดยที่ไม่เจ็บหรือเกิดความยากลำบาก หากไม่สามารถรูดเปิดออกได้ทั้งหมด ก็จะทำให้ไม่สามารถล้างสิ่งสกปรกที่หมักหมมอยู่ตามใต้หนัง อันประกอบด้วยเหงื่อ คราบปัสสาวะ ขี้ไคลทำให้เกิดคราบขาวๆที่เราเรียกว่าขี้เปียก (Smegma) เกิดขึ้น การที่เราสามารถรูดหนังลงมาได้ก็เนื่องจากกลไกในการเจริญเติบโตของร่างกายซึ่งเกิดจากการเพิ่มขนาดแกนกลางของอวัยวะเพศในขณะที่เข้าสู่วัยรุ่นแต่ในบางคนที่หนังบริเวณนี้ตีบแคบมากแม้จะพยายามรูดลงอย่างไรก็ไม่สามารถจะเอาลงมาได้ และถ้าทำรุนแรงมากก็จะทำให้เจ็บจนเลือดออก แม้จะโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม
ปัญหาของภาวะหนังหุ้มปลายตีบ (Phimosis) ในผู้ใหญ่บางคนตีบมากจนถึงขนาดไม่สามารถรูดเปิดได้แม้การแข็งตัว เป็นปัญหาที่พาคนกลุ่มหนึ่งพบแพทย์เนื่องจาก
- เกิดความไม่สะดวกในการมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากบริเวณส่วนหัวซึ่งเป็นตำแหน่งที่ใช้เส้นประสาทมากที่สุดไม่สามารถเปิดรับความรู้สึกได้เต็มที่
- กลิ่นและคราบสกปรกสะสมก็ทำให้สาวเกิดอุปสรรคของการร่วมเพศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่มีกิจกรรมทางเพศแบบอื่นเช่นการทำออรัลเซ็กส์
- ในบางครั้งก็ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากเกิดขึ้นได้ (Infertile) เนื่องจากรูที่ตีบมากเกินไป ทำให้การหลั่งน้ำอสุจิออกมาแต่ละครั้งไม่สามารถไปถึงปลายช่องคลอดของผู้หญิงได้ง่ายและรูที่ตีบยังทำให้เกิดความลำบากในการปัสสาวะได้อีกด้วย
ถ้าหนังหุ้มปลายตีบมากๆในบางครั้งเมื่อมีการใช้งานอย่างหักโหมเช่นช่วยตัวเองหรือมีเพศสัมพันธ์อย่างรุนแรงในบางคนแม้จะฝืนรูดกลับลงมาได้แล้ว แต่กลับไม่สามารถรูดคืนได้ อาจจะเกิดการรัดคอบริเวณลำของอวัยวะเพศทำให้เกิดอาการบวมและเจ็บปวดทำให้ต้องมาพบแพทย์เพื่อทำการแก้ไขโดยด่วนเรียก Paraphimosis
จึงเห็นได้ว่าหนังหุ้มปลายที่ตีบแคบมากนั้นถ้าหากเราดูแลได้ไม่ดี ก็จะก่อปัญหาได้อย่างมาก ยังไม่รวมถึงเป็นแหล่งก่อโรคต่างๆเช่นการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ, มะเร็งองคชาติ, มะเร็งปากมดลูกในเพศหญิง ดังนั้นการขลิบหนังส่วนนี้ออกจะทำให้แก้ปัญหาเหล่านี้ได้ช่วยทั้งการดูแลสุขอนามัยได้สะดวกทำให้ไม่มีสิ่งหมักหมมหรือกลิ่นไม่พึงประสงค์
ประโยชน์จากการขลิบหนังหุ้มปลาย
- ลดอัตราการเกิดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (Urinary Tract Infection) ในเด็กเล็ก
- ลดอัตราการเกิดมะเร็งองคชาติ ลดอัตราการเกิดมะเร็ง 1 ต่อ 100,000
- ลดอัตราการติดเชื้อทางระบบสืบพันธ์ (Sexual Transmitted Disease) บางชนิด เนื่องจากลดผิวหนังด้านในที่จะรับเชื้อ
- ป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับหนังหุ้มปลาย เชิงภาวะ พาราไพโมซิส
- ป้องกันภาวะหนังหุ้มปลายตีบตัน
- ง่ายต่อการทำความสะอาดอวัยวะเพศ
- ลดอัตราการเป็นมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง การขลิบช่วยลดอัตราการติดเชื้อ HPV ซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดมะเร็งปากมดลูกในเพศหญิง
เทคนิคการผ่าตัด
เทคนิคการขลิบอาจแบ่งตามปริมาณผิวหนังที่เหลืออยู่หลังจากตัดออกคือถ้าผ่าตัดออกมากก็จะตึงมาก ถ้าตัดออกน้อยผิวหนังที่เหลือก็จะคงอยู่มาก อาจจะไม่มีประโยชน์เท่าไร แต่ในบางคนก็พอใจกับการตัดออกเล็กน้อยเพราะจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของอวัยวะเพศและกลไกของการร่วมเพศไปมาก การที่จะกำหนดว่าตัดมากน้อยแค่ไหน ต้องดูทั่วไปภาวะปกติและเวลาอวัยวะแข็งตัว โดยที่ภาวะปกติต้องสามารถปิดขอบบนได้หรือไม่ก็ตามแต่เวลาแข็งตัวต้องไม่ตึงมาก
เทคนิคการตัดอาจแยกอย่างคร่าวๆได้ดังนี้
- การขลิบเล็กน้อย (Minimal) มีจุดมุ่งหมายเพื่อคงลักษณะทางกายภาพและกลไกการร่วมเพศแบบเดิมได้และจะตัดเฉพาะหนังที่เกินจากปลายอวัยวะเพศ ทำให้คนที่มีหนังหุ้มปลายยาวมาก หรือปลายสุดแคบทำให้รูดเปิดอวัยวะเพศได้ยาก การผ่าตัดช่วยให้สามารถเปิดหัวอวัยวะเพศทำความสะอาดง่ายขึ้น
- การขลิบบางส่วน (Partial) ตัดปลายออกบางส่วนจะเหลือผิวหนังปิดหัวอวัยวะเพศได้บางส่วนเวลาอ่อนตัวแต่เวลาแข็งตัวและจะไม่ปิดปลายท่อปัสสาวะ สามารถเปิดออกได้ทั้งหมด
- การขลิบที่ไม่ตึงมาก (Loose) หลังการผ่าตัดส่วนหัวของอวัยวะเพศจะเปิดออกหมดเวลาที่อ่อนตัวจะมีผิวหนังย่นๆอยู่บริเวณติดขอบของอวัยวะเพศ ยกเว้นเวลาที่อวัยวะเพศอ่อนตัวมากกว่าปกติเช่นอากาศเย็นมากๆอาจจะมีผิวหนังคลุมขอบของอวัยวะเพศได้ ขณะที่แข็งตัวผิวหนังก็ยังไม่ตึงมากและสามารถขยับผิวหนังได้อีกบ้าง ข้อดีคือเวลาใส่กางเกงในว่ายน้ำหรือกางเกงในผิวหนังที่มาปิดอยู่ที่ขอบของอวัยวะเพศจะช่วยให้ไม่เห็นรูปร่างของอวัยวะเพศชัดมากเกินไป
- แบบตึง (Tight) แบบนี้จะตัดหนังหุ้มปลายอวัยวะมากทำให้ไม่มีผิวหนังห้อยๆ บริเวณขอบของอวัยวะเพศในระยะอ่อนตัวเวลาใส่กางเกงในหรือกางเกงว่ายน้ำก็จะเห็นรูปร่างหัวอวัยวะเพศชัดเจน เวลาที่แข็งตัวจะไม่สามารถขยับผิวหนังขึ้นลงได้
ขั้นตอนการผ่าตัด
ในบางคนไม่จำเป็นต้องโกนขนอวัยวะเพศก็สามารถทำการผ่าตัดได้ แนะนำให้โกนขนอวัยวะเพศ ก่อนผ่าตัดเพราะหลังผ่าตัดต้องมีการดูแลแผลผ่าตัด รอบๆด้วยผ้าก๊อสและปิดพลาสเตอร์ ถ้ามีขนอวัยวะเพศ จะทำให้การติดพลาสเตอร์ทำได้ยากและเวลาแกะพลาสเตอร์ก็อาจติดบริเวณขนทำให้เจ็บมากเวลาเปิดทำแผล
- การผ่าตัดทำโดยการฉีดยาชาที่โคนอวัยวะเพศ
- ตัดผิวหนังส่วนเกินตามที่ต้องการ
- หยุดเลือดที่เนื้อเยื่อด้านในของแผล
- เย็บปิดแผลโดยใช้ไหมละลาย