แผนปัจจุบัน : ชาย
ต่อมลูกหมากโต Benign Prostatic Hyperplasia
ผู้ชายเมื่อมีอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป ต่อมลูกหมากมักจะโตไม่มากก็น้อย ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงตามสังขาร ผู้ป่วยจะไม่มีอาการแสดงใด ๆ ต่อเมื่อมีอายุมากกว่า 55 ปี ขึ้นไป ผู้ชายบางคนอาจมีต่อมลูกหมากโตและแข็ง กดท่อปัสสาวะได้ และกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะไม่แข็งแรงพอจะบีบต้านแรงกดของต่อมลูกหมาก จึงทำให้เกิดมีอาการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ โรคนี้อาจพบได้ประมาณ 10% ของผู้ชายสูงอาย
ต่อมลูกหมาก
ต่อมลูกหมาก คือ อวัยวะเพศหนึ่งของระบบสืบพันธุ์เพศชายอยู่ติดกับกระเพาะปัสสาวะ และรอบท่อปัสสาวะส่วนต้น มีลักษณะคล้ายลูกเกาลัค กว้าง 4 เซนติเมตร ยาว 3 เซนติเมตร และหนา 2 เซนติเมตร ทำหน้าที่สร้างของ เหลว และสารที่หล่อเลี้ยงตัวอสุจิให้แข็งแรงเพื่อให้ตัวอสุจิมีความสมบูรณ์ที่จะทำหน้าที่ในการสืบพันธุ์
โรคของต่อมลูกหมาก แบ่งเป็น 3 ชนิด
- โรคต่อมลูกหมากโต พบ 80%
- มะเร็งต่อมลูกหมาก พบ 18%
- ต่อมลูกหมากอักเสบ พบ 2%
- ต่อมลูกหมากโต เป็นโรคที่พบในชายอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป
เป็นความผิดปกติที่มีความเจริญทั้งขนาดและจำนวนของเซลล์ต่อมลูกหมากมากกว่าปกติ ทำให้ขนาดของต่อมลูกหมากขนาดโตขึ้น และตำแหน่งของต่อมลูกหมากซึ่งอยู่รอบๆ ท่อปัสสาวะ ก็จะมีการบีบรัดท่อปัสสาวะให้ตีบ แบน และยาว ทำให้เกิดการอุดกั้นบริเวณท่อทางเดินปัสสาวะ เป็นผลให้ปัสสาวะไหลไม่สะดวก
สาเหตุของโรคต่อมลูกหมากโต
สาเหตุการเกิดโรคยังไม่สามารถสรุปสาเหตุได้ชัด แต่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับอายุ และเกิดการไม่สมดุลของระดับฮอร์โมนเพศชายและเพศหญิงในเลือดเมื่ออายุมากขึ้น โดยฮอร์โมนเพศชายมักจะมีระดับลดลงในชายสูงอายุ
อาการของโรคต่อมลูกหมากโต
อาการเนื่องจากขนาดของต่อมลูกหมากที่โตขึ้น ทำให้เกิดการอุดกั้นของท่อทางเดิน และคอกระเพาะปัสสาวะ จึงทำให้มีการถ่ายปัสสาวะที่ผิดปกติไปดังต่อไปนี้
- ปัสสาวะบ่อยทั้งกลางวันและกลางคืน ปวดปัสสาวะบ่อยจนบางครั้งก็ราดก่อนถึงห้องน้ำ
- ปัสสาวะลำบาก ต้องเบ่ง ลำปัสสาวะไม่พุ่ง หรืออ่อนลง
- ปัสสาวะแต่ละครั้งต้องรอนานกว่าจะออก และเมื่อออกไปแล้วต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะปัสสาวะหมด
- ปัสสาวะไม่สุดเหมือนยังมีปัสสาวะค้างอยู่
- บางครั้งอาการรุนแรงมากขึ้นจนกระทั่งปัสสาวะไม่ออก
โดยทั่วไปอาการเริ่มแรกของอาการโรคต่อมลูกหมากโต คือ อาการปัสสาวะบ่อย และ อาการกลั้นปัสสาวะไม่ค่อยอยู่ และเมื่อการดำเนินของโรคมากขึ้น อาการของปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะต้องเบ่งใช้เวลานานกว่าจะปัสสาวะหมดก็จะค่อย ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุดอาจจะปัสสาวะไม่ออก
ภาวะแทรกซ้อน
- มีปัสสาวะเป็นเลือด เพราะเส้นเลือดของต่อมลูกหมากแตก เนื่องจากจำเป็นต้องเบ่งปัสสาวะ
- ปัสสาวะไม่ออก
- มีการคั่งค้างของน้ำปัสสาวะเนื่องจากปัสสาวะไม่หมด
- เกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ จากการมีปัสสาวะค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ
- อาจจะมีนิ่วเกิดขึ้นในกระเพาะปัสสาวะได้
- เกิดภาวะการเสื่อมของไตได้เป็นภาวะที่อันตรายมากที่สุด พบได้ไม่เกิน 10%
การวินิจฉัยโรค
- ซักประวัติและถามอาการของการขับถ่ายปัสสาวะ รวมทั้งระยะเวลาที่เริ่มเป็น
- การใช้แบบสอบถามอาการถ่ายปัสสาวะโดยสามารถคิดออกมาเป็นคะแนนได้ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีอาการน้อย ปานกลาง และมาก ตามลำดับ
- แพทย์จะทำการตรวจทวารหนักเพื่อคลำดูต่อมลูกหมากว่ามีขนาดโตมากน้อยเพียงใด
- การวัดความแรงของการถ่ายปัสสาวะ ซึ่งจำเป็นต้องถ่ายปัสสาวะในเครื่องมือพิเศษที่จะสามารถวัดความแรงของน้ำปัสสาวะได้
- การส่องกล้องดูทางท่อปัสสาวะ เพื่อดูว่าต่อมลูกหมากโตจริงหรือไม่ และดูว่ามีผลแทรกซ้อนเกิดขึ้นในกระเพาะปัสสาวะหรือไม่ เช่น นิ่ว
- การวัดน้ำปัสสาวะค้างในกระเพาะปัสสาวะว่ามีจำนวนเท่าใด
- การตรวจวัดขนาดและดูลักษณะของต่อมลูกหมากด้วยเครื่องอัลตร้าซาวด์ซึ่งสอดเข้าทางทวารหนัก
- การเจาะเลือดเพื่อดูผลเลือดของต่อมลูกหมาก ( PSA ) เพื่อช่วยแยกโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
การรักษาต่อมลูกหมากโต
- การรักษาแบบประคับประคอง จะใช้ในกรณีที่มีอาการไม่มาก และยังไม่มีอาการแทรกซ้อน
- การใช้ยารักษา มีอยู่ 2 ชนิด คือ
- ยาที่ลดขนาดต่อมลูกหมาก ได้แก่ กลุ่มยาต้านเอนไซม์ 5-alpha reductase ซึ่งเอนไซม์ชนิดนี้จะไปกระตุ้นให้ต่อมลูกหมากมีขนาดโตขึ้น เมื่อให้ยาต้านเอนไซม์ชนิดนี้ก็อาจจะมีผลทำให้ต่อมลูกหมากมีขนาดเล็กลง
- ยาลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบในเนื้อต่อมลูกหมาก ทำให้ความตึงตัวของต่อมลูกหมากลดลง จะทำให้การถ่ายปัสสาวะที่ดีขึ้น ได้แก่กลุ่มยาต้าน alpha-block
- การผ่าตัด ใช้ในรายที่มีอาการมาก หรือมีภาวะแทรกซ้อน การผ่าตัดมีหลายชนิด แต่วิธีที่นิยมมากที่สุด คือการใส่เครื่องมือเข้าทางท่อปัสสาวะ และผ่าตัดต่อมลูกหมากออกทางท่อปัสสาวะด้วยไฟฟ้า วิธีนี้เรียกว่า Transurethral resection of the prostate (TUR-P) หากต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่มาก จำเป็นต้องใช้วิธีการผ่าตัดผ่านหน้าท้อง
- การรักษาโดยทำเพื่อให้เกิดความร้อนต่อเนื้อเยื่อของต่อมลูกหมาก โดยความร้อนจากแหล่งต่างๆ ได้แก่ ไมโครเวฟ, คลื่นวิทยุ (Radio Frequency), คลื่นเสียงอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound) หรือเลเซอร์ ความร้อนมีผลทำให้ต่อมลูกหมากเหี่ยวเล็กลง และท่อทางเดินปัสสาวะกว้างขึ้น ซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีผลแทรกซ้อนน้อยกว่า และอยู่โรงพยาบาลสั้นกว่า