แผนปัจจุบัน : ชาย
ผ่าตัดไต Nephrectomy
การผ่าตัดไตหรือที่เรียกว่า Nephrectomy เป็นการผ่าตัดที่พบได้บ่อยในเวชปฏิบัติ อาจเป็นการผ่าตัดเพียงบางส่วนของเนื้อไต เรียกว่า partial nephrectomy หรืออาจเป็นการผ่าตัดไตข้างใดข้างหนึ่งออกทั้งหมด เรียกว่า total nephrectomy หรือเป็นการผ่าตัดไตหนึ่งข้าง รวมทั้งต่อมหมวกไตและต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงออกทั้งหมด เรียกว่า radical nephrectomy หรือเป็นการผ่าตัดไตทั้งสองข้างออก เรียกว่า bilateral nephrectomy
เทคนิคทางศัลยกรรม
วิธีแรก เรียกว่า conventional open surgery หมายถึงการผ่าตัดแบบดั้งเดิมโดยใช้หลักการผ่าตัดใหญ่
วิธีที่สอง เป็นการผ่าตัดโดยใช้กล้อง เรียกว่า laparoscopic surgery เหมาะสำหรับการผ่าตัดไตข้างเดียวการผ่าตัดด้วยวิธีแรก ศัลยแพทย์จะกรีดแผลผ่าตัดที่ผิวหนัง ความยาว 8-12 นิ้ว ที่ตำแหน่งด้านข้างของลำตัว เพื่อให้การผ่าตัดรบกวนอวัยวะภายในช่องท้องน้อยที่สุด บางครั้งแผลผ่าตัดอาจเลยมาทางด้านหน้าหรือเลยไปทางด้านหลังแล้วแต่กรณีไป ส่วนการผ่าตัดโดยใช้กล้อง ศัลแพทย์กรีดแผลผ่าตัดเล็ก ๆ รวม 4 ตำแหน่งที่บริเวณผนังหน้าท้อง เพื่อสอดใส่เครื่องมือผ่าตัด ประกอบไปด้วยกล้อง และอุปกรณ์ช่วยผ่าตัดชนิดต่าง ๆ เมื่อผ่าตัดไตเสร็จแล้ว แพทย์จะพิจารณาเปิดแผลกว้างอีกหนึ่งตำแหน่งเพื่อนำไตออกนอกร่างกาย
การผ่าตัดทั้งสองวิธี conventional open nephrectomy และ laparoscopic nephrectomyกระทำภายใต้การดมยาสลบ วิธีส่องกล้องมีข้อดี คือ หลังผ่าตัดผู้ป่วยเจ็บน้อยกว่า แผลหายเร็วกว่าและพังผืดจากการผ่าตัดน้อย แต่ข้องเสีย คือ ใช้เวลาทำการผ่าตัดนานกว่า และต้องใช้ศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญเท่านั้น ในอนาคตอันใกล้ มีการพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดไตโดยใช้หุ่นยนต์ เรียกว่าrobotic surgery ซึ่งเริ่มเป็นเทคนิคที่ใช้กันแพร่หลายมากขึ้นในต่างประเทศหลายแห่งในขณะนี้
การผ่าตัดไตในกรณีต่างๆ
- กรณีที่เป็นก้อนมะเร็ง ส่วนใหญ่ต้องทำการผ่าตัดผ่าตัดไตหนึ่งข้าง รวมทั้งต่อมหมวกไตและต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียง
- กรณีที่เนื้อไตถูกทำลายจากการติดเชื้อ ก้อนนิ่ว ถุงน้ำในไต หรือภาวะอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ
- กรณีที่ผู้ป่วยเกิดภาวะความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรงจากโรคเส้นเลือดไปเลี้ยงไตตีบตันrenalartery stenosis ซึ่งก่อให้เกิดการทำลายเนื้อไต หลังจากที่ทำการผ่าตัดไตแล้ว การควบคุมความดันโลหิตจะทำได้ง่ายขึ้น
- กรณีผู้ป่วยประสบอุบัติเหตุ เช่น อุบัติเหตุรถยนต์
- กรณีผ่าตัดเปลี่ยนไต kidney transplantation
การเตรียมตัวผ่าตัด
- งดใช้ยาในกลุ่มแอสไพรินและยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือดทุกชนิด เป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ก่อนผ่าตัด
- งดอาหารและน้ำหลังเที่ยงคืนก่อนวันผ่าตัด เพื่อป้องกันการอาเจียนระหว่างการผ่าตัด
- ทบทวนประวัติการแพ้ยา ประวัติความเจ็บป่วยและการผ่าตัดในอดีต
- ในกรณีที่สงสัยว่าจะตั้งครรภ์ ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
การติดตามดูแลผู้ป่วย
หลังจากแพทย์อนุญาตให้กลับบ้าน และนัดตรวจหนึ่งสัปดาห์ เพื่อตรวจความเรียบร้อยของแผลผ่าตัดและประเมินผลการผ่าตัดในเบื้องต้น โดยทั่วไปสำหรับการผ่าตัดชนิด conventional opensurgery แพทย์จะให้พักฟื้นเป็นเวลาประมาณ 6 สัปดาห์ ส่วนการผ่าตัดชนิด laparoscopicnephrectomy จะใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 4 สัปดาห์
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
- ภยันตรายต่ออวัยวะใกล้เคียง ได้แก่ ลำไส้ ตับ ม้าม ตับอ่อน
- เลือดออกในช่องท้อง หรือที่แผลผ่าตัด
- เกิดรอยรั่วเข้าไปในช่องปอดระหว่างผ่าตัด ทำให้ปอดแฟบ
- ประสิทธิภาพการทำงานของปอดและระบบทางเดินหายใจลดลงภายหลังการผ่าตัด
- แผลผ่าตัดติดเชื้อ
- สมรรถภาพการทำงานของไตจะลดลงบ้างในช่วงแรกหลังผ่าตัด
- ภยันตรายต่อเส้นประสาทใกล้แผลผ่าตัด
- ไส้เลื่อนที่แผลผ่าตัด