แผนปัจจุบัน : ชาย
เบาหวาน ความดันโลหิตสูงกับสมรรถภาพทางเพศ
ความหมาย หย่อนสมรรถภาพทางเพศ
หย่อนสมรรถภาพทางเพศชาย (Erectile Dysfunction) คือ ภาวะที่อวัยวะเพศชายไม่สามารถแข็งตัวได้ตามปกติ ซึ่งเกิดได้จากทั้งสาเหตุทางด้านร่างกายและจิตใจ หรือปัจจัยอื่น ๆ เช่น โรคหลอดเลือด โรคทางระบบประสาท ภาวะขาดฮอร์โมนเพศชาย โรคเครียด โรคซึมเศร้า หรืออาจเกิดจากความขัดแย้งระหว่างคู่รัก จนส่งผลถึงสภาพจิตใจ รวมไปถึงการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือการใช้ยาบางชนิด
นอกจากนั้น ปัญหาหย่อนสมรรถภาพทางเพศ สามารถเกิดขึ้นได้กับวัยรุ่นจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งจะเกิดขึ้นกับประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ที่มีอายุระหว่าง 40-70 ปี
อาการของหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
อาการของหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เกิดขึ้นเมื่ออวัยวะเพศชายไม่สามารถแข็งตัวหรือแข็งตัวได้ไม่นานพอที่จะมีเพศสัมพันธ์ อาจเกิดร่วมกับภาวะบกพร่องทางเพศอื่น ๆ เช่น มีความต้องการทางเพศลดลง มีปัญหาในการสำเร็จความใคร่ และมีความผิดปกติในการหลั่งน้ำอสุจิ เป็นต้น
หากมีสัญญาณหรืออาการของภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ดังต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์
- มีความกังวลหรือรู้สึกสงสัยว่าตนเองมีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เป็นเวลากว่า 2-3 สัปดาห์
- พบว่าตนเองมีอาการผิดปกติที่เกี่ยวกับเพศ เช่น มีปัญหาในการหลั่งน้ำอสุจิเร็วหรือช้าเกินไป
- เป็นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงของภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เช่น โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ หรือโรคเบาหวาน รวมไปถึงปัญหาสุขภาพอื่น ๆ
สาเหตุของหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
สาเหตุแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
1. สาเหตุทางด้านร่างกาย
หย่อนสมรรถภาพทางเพศส่วนใหญ่จะมีสาเหตุ คือโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง โรคอ้วน หรือโรคพาร์กินสัน และภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศเป็นเพียงปลายเหตุ
นอกจากนั้น ยังสามารถเกิดได้จากผลข้างเคียงจากการรักษาโรคหรือการใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคซึมเศร้า หรือยาแก้แพ้ รวมไปถึงการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้าหนัก ร่างกายอ่อนล้า หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับ เป็นต้น
2. สาเหตุทางด้านจิตใจ
สมองมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นทำให้เกิดการแข็งตัวของอวัยวะเพศชาย หรือกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ทางเพศ ซึ่งภาวะทางจิตใจบางอย่างที่ไปขัดขวางหรือส่งผลด้านลบต่ออารมณ์ทางเพศ ได้แก่ ความเครียด ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า หรือภาวะสุขภาพจิตอื่น ๆ รวมไปถึงปัญหาความขัดแย้งหรือปัญหาความสัมพันธ์กับคู่ของตน
การวินิจฉัยหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
ในเบื้องต้นแพทย์จะซักประวัติผู้ป่วย เช่น อาการที่สำคัญ ประวัติการเจ็บป่วย โรคประจำตัว หรือยาที่ใช้อยู่ และแพทย์จะตรวจร่างกาย นอกจากนั้น หากแพทย์พบปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อาจจำเป็นต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมหรืออาจต้องส่งตัวไปให้แพทย์เฉพาะทาง ซึ่งการตรวจเพิ่มเติม ได้แก่ ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ อัลตราซาวด์ ตรวจสุขภาพจิต หรือตรวจสอบการแข็งตัวของอวัยวะเพศ
โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ที่เกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศมักจะมีโรคที่เป็นต้นเหตุซ่อนอยู่ จึงจำเป็นต้องมีการวินิจฉัยหาสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อให้สามารถรักษาได้อย่างตรงจุด
การรักษาหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
การรักษาหย่อนสมรรถภาพทางเพศ จะขึ้นอยู่กับสาเหตุ ความรุนแรง และโรคประจำตัว เช่น หากเป็นโรคทางกาย แพทย์ก็จะรักษาสาเหตุนั้น ๆ แต่หากรักษาแล้วไม่ได้ผลแพทย์ก็จะทำการวินิจฉัยในขั้นต่อไปเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง และหาว่าการรักษาหรือการบำบัดชนิดใดที่เหมาะสมกับคนไข้ที่สุด
โดยในปัจจุบัน การรักษาหย่อนสมรรถภาพทางเพศมีหลากหลายวิธีตามความเหมาะสมและความต้องการของคนไข้แต่ละคน ได้แก่
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน
พยายามเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวันโดยอาศัยความพยายามและความตั้งใจจริง เพื่อทำให้มีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น เพราะการแข็งตัวของอวัยวะเพศชายเป็นตัวบ่งชี้ถึงสุขภาพร่างกาย
ผู้ป่วยที่มีปัญหาน้ำหนักตัวเกิน ควรหาวิธีเพื่อลดน้ำหนัก เช่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและควบคุมอาหาร เพราะปัญหาน้ำหนักตัวเกินเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาหย่อนสมรรถภาพทางเพศในระยะยาวได้
เลิกสูบบุหรี่ ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกฮอล์ และไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นตัวทำลายสุขภาพ เมื่อสุขภาพร่างกายแย่ลงก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำมาสู่การหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้ในที่สุด
หลีกเลี่ยงหรือพยายามลดความเครียด เพราะความเครียด ความวิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้า เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ดังนั้น ควรหาทางลดความเครียด หาสาเหตุที่ทำให้เครียดและพิจารณาดูว่าสามารถแก้ไขได้หรือไม่ หากไม่ได้ก็ควรขอความช่วยเหลือ เช่น เข้ารับขอคำปรึกษาจากนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์
ผู้ที่กำลังใช้ยารักษาโรคที่อาจก่อให้เกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เช่น ยารักษาโรคซึมเศร้า (Antidepressants) หรือยาแก้แพ้ (Antihistamines) เมื่อผู้ป่วยที่ใช้ยาดังกล่าวพบว่าตนเองมีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศอยู่ สามารถปรึกษากับแพทย์ที่ให้การรักษาโรคนั้น ๆ
รักษาด้วยยารับประทาน
ยารักษาและบำบัดอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศชาย พีดีอี 5 อินฮิบิเตอร์ (Phosphodiesterase-5 Inhibitors: PDE-5) ได้แก่ ยาซิลเดนาฟิล (Sildenafil) ยาทาดาลาฟิล (Tadalafil) ยาวาร์เดนาฟิล (Vardenafil) เป็นยาที่ใช้ในการบำบัดผู้ที่มีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ยาจะออกฤทธิ์ชั่วคราวในการช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิตของอวัยวะเพศชาย
รับประทาน 1 เม็ด ภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งพบว่า 2 ใน 3 ของผู้ชายที่ใช้ยานี้มีการแข็งตัวของอวัยวะเพศที่ดีขึ้น แต้ต้องมีการเล้าโลมก่อนใช้ยา จึงจะเห็นผลดี
ยากลุ่มนี้ห้ามใช้กับผู้ที่มีปัญหากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Angina) เพราะอาจต้องใช้ยากลุ่มไนเตรท (Nitrate) ในการรักษา และเมื่อต้องใช้ร่วมกับยากลุ่มพีดีอี 5 อินฮิบิเตอร์ อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงกับหัวใจและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นผู้ป่วยที่ต้องใช้ยากลุ่มไนเตรทควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน
นอกจากนั้น ควรระมัดระวังการใช้ยา สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงของภาวะองคชาตแข็งค้าง (Priapism) ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดเมื่ออวัยวะเพศแข็งตัว หรือผู้ที่ใช้ยาแอลฟา-บล็อกเกอร์ (Alpha-blockers) ซึ่งเป็นยาที่ทำให้หลอดเลือดขยายตัว และใช้รักษาได้หลากหลายโรคและอาการ เช่น โรคต่อมลูกหมากโต ความดันโลหิตสูง
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นเมื่อใช้ยากลุ่มพีดีอี 5 อินฮิบิเตอร์
- ปวดศีรษะ และไมเกรน
- ผิวหนังแดง
- อาหารไม่ย่อย
- คลื่นไส้และอาเจียน
- คัดจมูกหรือมีน้ำมูกไหล
- ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ
- รบกวนทัศนวิสัยในการมองเห็น
ฮอร์โมนบำบัด
ผู้ที่มีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศที่มีสาเหตุเกี่ยวกับฮอร์โมน เช่น มีระดับฮอร์โมนเพศชายต่ำเกินไป แพทย์อาจรักษาด้วยการฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนในร่างกายให้กลับสู่ระดับปกติ
การผ่าตัดใส่แกนอวัยวะเพศเทียม
การผ่าตัดใส่แกนอวัยวะเพศ จะเป็นวิธีสุดท้ายเมื่อรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ไม่ได้ผล โดยส่วนใหญ่แล้วแพทย์จะไม่แนะนำวิธีนี้ เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงเหมือนกับการผ่าตัดทั่วไป เช่น การติดเชื้อ นอกจากนั้น แกนอวัยวะเพศเทียมยังมีราคาแพงมากและต้องเป็นศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะบางรายเท่านั้นจึงจะสามารถทำได้
การรักษาทางจิตใจ
การรักษาที่อาจได้ผลสำหรับผู้ที่มีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศที่มีสาเหตุมาจากจิตใจ เช่น วิธีการฝึกที่เรียกว่า ‘’Sensate Focus’’ ซึ่งเป็นวิธีบำบัดทางเพศที่จะให้คู่รักเข้ามารับการบำบัดพร้อมกัน
ในระยะแรก เริ่มจากการไม่ให้คู่รักมีเพศสัมพันธ์กันเลย และไม่ให้สัมผัสกับอวัยวะเพศหรือเต้านมฝ่ายตรงข้าม ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับการสัมผัสอวัยวะเพศของผู้ชายที่มีปัญหาได้
ในระยะต่อไป จะเริ่มให้จับอวัยวะเพศและเต้านมได้แล้ว เพื่อให้เรียนรู้ว่าจะต้องกระตุ้นอารมณ์ทางเพศจากการสัมผัสอวัยวะเพศหรือเต้านมอย่างไร และเมื่อผ่านการฝึกปฏิบัติให้มีการตื่นตัวทางเพศเป็นอย่างดีแล้วจึงจะให้มีเพศสัมพันธ์กัน
สำหรับผู้ที่มีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศที่มีสาเหตุจากภาวะซึมเศร้าหรือความวิตกกังวล สามารถพูดคุยกับผู้ให้คำปรึกษา ซึ่งจะช่วยให้สามารถพิจารณาหาสาเหตุที่แท้จริงและหาทางแก้ปัญหาต่อไปได้
นอกจากนั้น ยังมีการบำบัดรักษาทางจิตอื่น ๆ ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าใจตนเองได้มากยิ่งขึ้น เช่น การเพิ่มความมั่นใจในตัวเอง เรื่องเกี่ยวกับเพศ หรือเรื่องความสัมพันธ์กับคนรัก โดยการบำบัดด้วยการเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioural Therapy: CBT) เป็นการให้คู่รักเข้ามาพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องทางเพศ อารมณ์ หรือความรู้สึกต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้ผู้เข้ารับบำบัดเกิดความเข้าใจในปัญหา และสามารถหาทางแก้ไขได้ในที่สุด
การรักษาด้วยสมุนไพร
อีกทางเลือกที่มีความเสี่ยงน้อยและเป็นส่วนผสมจากธรรมชาติ คือ การนำสมุนไพรมาใช้รักษาหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ส่วนในบ้านเรามีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่าง ๆ ที่มีส่วนประกอบหลักจากสมุนไพร ซึ่งได้รับการวิจัยว่าอาจช่วยในเรื่องหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เรามีสูตรสมุนไพรเฉพาะทำวิจัยขึ้นมาเอง ชื่อ M herbs for men ใช้ในการบำรุงสมรรถภาพทางเพศชาย แบบธรรมชาติ
ภาวะแทรกซ้อนของหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
โดยปกติแล้วภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศจะไม่มีความรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนใด ๆ แต่อาจส่งผลทางด้านจิตใจและความสัมพันธ์ เช่น
หากอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง อาจทำให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวลตามมา
เมื่อได้รับประสบการณ์ทางเพศที่ไม่ดี อาจนำมาสู่ความเครียดหรือภาวะซึมเศร้าได้ในที่สุด ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเสียความมั่นใจหรือเกิดความไม่สบายใจ
อาจทำให้มีปัญหาความขัดแย้งหรือปัญหาความสัมพันธ์กับคู่รัก ทั้งเรื่องความสุขสมในการมีเพศสัมพันธ์หรือปัญหาเนื่องจากไม่สามารถมีบุตรได้
การป้องกันหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
การป้องกันสามารถเริ่มต้นด้วยตนเองง่าย ๆ ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งนอกจากร่างกายจะแข็งแรงแล้วยังช่วยกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนเพศชายได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์ พบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียดสม่ำเสมอ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในชีวิตประจำวันเพื่อสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น เช่น เลิกสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทำอารมณ์ให้แจ่มใสและหลีกเลี่ยงความเครียด
นอกจากนั้น สำหรับผู้มีภาวะทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า วิตกกังวล หรือมีปัญหาทางสุขภาพจิตอื่น ๆ ควรติดต่อเข้ารับการบำบัดรักษาทางจิตเพื่อการรักษาอย่างทันท่วงที